ในปัจจุบันราคาแรม (RAM ย่อมาจาก Random access memory) มีราคาถูกลงมาก คำถามหนึ่งที่มักพบกันก็คือ ถ้ามีอยู่ 4 GB แล้วจะเพิ่มเป็น 8 GB ดีไหม คุ้มที่จะเปลี่ยนหรือไม่ คำตอบของคำถามก็อยู่ในบทความนี้แหละครับ
ก่อนอื่นเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ในวินโดวส์แต่ละรุ่นจะรองรับแรมได้ไม่เท่ากัน สำหรับวินโดวส์ที่นิยมใช้เพื่อติดตั้งแรมเกินกว่า 4 GB ก็คือ วินโดวส์ 7 แบบ 64 บิต (หากเป็นวินโดวส์แบบ 32 บิตจะรองรับแรมได้ไม่เกิน 4 GB )
วิธีตรวจดูว่าวินโดวส์ที่คุณใช้งานอยู่เป็น 32 บิต หรือ 64 บิต ทำได้ด้วยการคลิกขวาที่ไอคอน Computer เลือกคำสั่ง Properties หน้าต่าง System จะปรากฏขึ้นมาดังรูปด้านล่างนี้ ถ้าส่วน System Type: ของคุณเป็น 64-bit Operating System ก็สามารถใส่แรมได้เกิน 4 GB ได้อย่างแน่นอน
คุณสามารถดูตารางแสดงขนาดแรมสูงสุดที่ใส่ได้ในวินโดวส์ 7 แต่ละรุ่นตามรูปด่านล่างนี้
สำหรับวินโดวส์เวอร์ชั่นอื่น ดูได้จากลิงก์ ขนาดของแรมที่วินโดวส์ในแต่ละเวอร์ชั่นรองรับ
เมื่อคุณใส่แรมเข้าไปเพิ่มเป็น 8 GB แล้วความเร็วจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 GB แค่ไหน ก็มีผู้ทดสอบให้ดูแล้วตามตารางด้านล่างนี้ เป็นการเปรียบเทียบความเร็วที่เพิ่มขึ้นเมื่อใช้แรม 8 GB เช่น
PSE 7 photoloading ก็คือการเปิดภาพขึ้นมาในโปรแกรมโฟโตช็อปเร็วขึ้น 7.3 เปอร์เซ็นต์
Crysis Warhead - Level Load โหลดด่านขึ้นมาเล่นเร็วขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมดูจากได้จากวิดีโอนี้
จากตารางและวิดีโอการทดสอบจะเห็นว่าการเพิ่มแรมจาก 4 GB เป็น 8GB ทำให้ความเร็วโดยรวมของการใช้งานโปรแกรมและวินโดวส์เร็วขึ้น บางท่านสงสัยว่าโปรแกรมหรือเกมบางเกมนั้นไม่ได้ใช้แรมเกินกว่า 4 GB ทำไมใส่แรมเพิ่มขึ้นถึง 8 GB ถึงทำให้เร็วขึ้นมาได้ คำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้อยู่ที่ระบบของวินโดวส์ครับ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนคุณต้องเปิด Windows Task Manager ขึ้นมาก่อน (กดปุ่ม Ctrl + Shift + ESC) จากนั้นคลิกไปที่แท็บ Performance และคลิกที่ Resource Monitor... (ดูรายละเอียดตรง Physical Memory (MB) แทนก็ได้)
เมื่อหน้าต่าง Resource Monitor ปรากฏขึ้นมาคลิกที่แท็บ Memory คุณจะเห็นรายละเอียดการจัดการแรมในวินโดวส์ ตามตัวอย่างนี้คือ
[*] Hardware Reserved สงวนไว้ให้อุปกรณ์ (BIOS และไดรเวอร์อุปกรณ์บางประเภท) 9 MB
[*] In Use ใช้งานอยู่ 1,615 MB (1.6 GB)
[*] Modified ข้อมูลในแรมที่จะเขียนลงฮาร์ดดิสก์ เมื่อเขียนเสร็จก็จะนำไปใช้งานได้อีกครั้ง 42 MB
[*] Standby แรมที่เป็นแคชมีข้อมูลอยู่ รอการเรียกใช้งานต่อไป 5,339 MB (5.3 GB)
[*] Free แรมที่ไม่มีข้อมูลใดๆ แรมตรงส่วนนี้หากมีโปรแกรมหรือวินโดวส์ต้องการใช้แรมเพิ่ม ก็จะเอาจากส่วนนี้ไปใช้ก่อน (หากไม่พอจะล้างข้อมูลที่อยู่ในแคช และเอาไปใช้ต่อในลำดับถัดไป)
จะเห็นว่าภาพรวมคร่าวๆ ในการใช้งานแรมของวินโดวส์นั้น หากคุณมีแรมมากตัวระบบวินโดวส์ก็จะจัดการใช้งานแรมที่มีเพิ่มขึ้นมามากตามไปด้วย ไม่ใช่ว่าโปรแกรมใช้แรมไม่เกิน 4 GB แล้วแรมที่เพิ่มมาเป็น 8 GB จะไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด แม้ในผลการทดสอบระหว่างแรม 4 GB และ 8 GB ที่ดูเหมือนว่าความเร็วในการทำงานจะเพิ่มมาประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ (แล้วแต่โปรแกรม) เหมือนจะไม่มาก บางครั้งก็เป็นภาพที่หลอกตาเช่นกัน
เพราะโดยปกติทั้งผมและคุณ ก็ไม่ได้เปิดโปรแกรมแค่เพียง 1 โปรแกรมเท่านั้น ในการใช้งานจริงเราจะเปิดโปรแกรมหลายๆ โปรแกรมขึ้นมาพร้อมกัน จุดนี้แหละครับที่เป็นผลพลอยได้ของเครื่องที่มีแรม 8 GB ที่ได้เปรียบเครื่องที่มีแรม 4 GB อย่างชัดเจน ในเครื่องที่มีแรมน้อยการสลับทำงานในแต่ละโปรแกรม แรมที่ว่างอยู่อาจไม่พอ วินโดวส์จึงต้องล้างข้อมูลที่มีอยู่ในแคชสลับกันไปมา และผลที่ตามก็คือเมื่อเปิดโปรแกรมอีกตัว แต่ไม่มีข้อมูลอยู่ในแคช ต้องโหลดข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ขึ้นมาใส่แรมใหม่ตอนสลับการทำงานโปรแกรม (สังเกตง่ายๆ ตอนสลับการทำงานโปรแกรมไฟฮาร์ดดิสก์จะกระพริบถี่) ทำให้โปรแกรมระบบโดยรวมทำงานช้าลง ต่างจากเครื่องที่มีแรม 8 GB ซึ่งสามารถสลับการทำงานของโปรแกรมได้ราบรื่นและรวดเร็วกว่า
โดยสรุปแล้ว การเพิ่มแรมจาก 4 GB เป็น 8 GB นั้นคุมค่ากับความเร็วที่ได้ ทั้งการใช้งานโปรแกรมทั่วไปและระบบวินโดวส์ เมื่อเทียบกับราคาของแรมที่ไม่แพง แต่หากคุณใช้วินโดวส์แบบ 32 บิตจะไม่สามารถเพิ่มแรมได้เกินกว่า 4 GB และในกรณีที่คุณลงวินโดวส์ใหม่ไม่เป็น อาจจะทำให้เสียเวลาหรือเสียเงินจ้างร้านคอมฯ ติดตั้งวินโดวส์ใหม่อีก การเพิ่มแรมเป็น 8 GB จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย
###จบแล้วครับ###
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ขอบคุณครับ
ReplyDeleteได้ความรู้ที่ต้องการเลย
ReplyDeleteได้ความรู้ที่ต้องการเลย ขอบคุณครับ
ReplyDeleteเยี่ยมมากครับ ขอบคุณครับ
ReplyDeleteสงสัยมานานแล้วเหมือนกัน เคลียร์แล้วครับ ผมก็ใช้ 8 GB เช่นกัน
ReplyDeleteอยากทราบลิมิตของวินXPนะครับว่ารองรับแรมได้เต็มที่ที่เท่าไร เพราะที่ทำงานของผม เป็น XP เพราะเครื่องเก่าครับ
ReplyDeleteไม่เชื่อ
ReplyDelete