Dec 15, 2010
Wednesday, December 15, 2010

ผลการทดสอบรีดพลัง RAID 0 ให้ได้ความเร็วสูงสุด

     การต่อ RAID (Redundant Array of Inexpensive Disks) คือ การนำเอาฮาร์ดดิสก์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปมาเชื่อมต่อการทำงานให้ประสานกันเพื่อประโยชน์ต่างๆ เช่น ใช้สำรองข้อมูล, เพิ่มความเร็วทั้งการอ่านเขียนข้อมูล ตามแต่รูปแบบ RAID ที่เลือกใช้
    ในการใช้งานทั่วไป (ตามบ้าน) จะนิยมในการต่อ RAID 0 (เรียกอีกอย่างว่า Striping) ซึ่งเป็นการต่อแบบใช้ฮาร์ดดิสก์ให้อ่านเขียนข้อมูลพร้อมกัน เช่น บันทึกไฟล์วิดีโอไฟล์หนึ่ง ขนาด 1 GB ข้อมูลทั้งหมดของไฟล์วิดีโอจะกระจายไปเก็บตามฮาร์ดดิสก์ที่นำมาต่อ RAID 0 ทำให้เวลาในการเขียนข้อมูลเร็วขึ้นตามจำนวนฮาร์ดดิสก์ที่นำมาต่อ และเมื่อมีการอ่านข้อมูลดังกล่าวความเร็วก็จะเร็วกว่าปกติด้วย เพราะข้อมูลไม่ได้กระจุกอยู่ในฮาร์ดดิสก์เพียงตัวเดียว
   
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการต่อ RAID 0 (ไม่เคยต่อแบบอื่น)

- ความจุดของฮาร์ดดิสก์จะเพิ่มตามจำนวนฮาร์ดดิสก์ที่นำมาต่อ เช่น 500 GB จำนวน 2 ลูก ก็จะได้ RAID 0 ขนาด 1 TB (1000 GB)

- ฮาร์ดดิสก์ที่นำมาต่อไม่จำเป็นต้องมีขนาดเท่ากัน เช่น เอาลูก 500 GB มาต่อกับ ลูก 250 GB ก็ได้

- ถ้าฮาร์ดดิสก์มีความจุไม่เท่ากัน RAID 0 ที่ได้จะยึดเอาความจุต่ำสุดมาคูณจำนวนลูก เช่น 500 GB มาต่อกับ 250 GB ความจุต่ำสุดคือลูก 250 GB ดังนั้นถ้าต่อแบบนี้ลูก 500 GB จะถูกใช้เพียง 250 GB ซึ่ง RAID 0 เมื่อต่อออกมาแล้วจะได้  250GB x 2 = 500 GB เท่านั้น

- เนื่องจากการเขียนข้อมูลใน RAID 0 จะเป็นแบบกระจายข้อมูลไปยังฮาร์ดดิสก์ที่นำมาเชื่อมต่อ ดังนั้นหากมีฮาร์ดดิสก์ตัวใดตัวหนึ่งเสีย ข้อมูลทั้งหมดใน RAID 0 จะเสียหายไปด้วยทันที (การทำมีความเสี่ยง)

- ความเร็วไม่ใช่อัตราคูณ ถ้าคุณนำฮาร์ดดิสก์สองตัวมาต่อกันความเร็วที่ได้ในการโอนถ่ายข้อมูลเกือบจะเร็วขึ้นเท่าตัว แต่ถ้าเอาฮาร์ดดิสก์มาเพิ่มอีกเป็นสาม หรือสี่ลูก ความเร็วที่ได้จะเพิ่มขึ้นมาอีกไม่มาก (ไม่คุ้มที่จะต่อ เพราะยิ่งต่อจำนวนมาก ความเสี่ยงที่ฮาร์ดดิสก์ลูกใดลูกหนึ่งจะเสีย ก็จะมีโอกาสมากตามไปด้วย)

- ฮาร์ดดิสก์ต้องเป็นชนิดเดียวกัน เอามาต่อข้ามไม่ได้ เช่น IDE มาต่อกับ SATA จะทำไม่ได้ ต้องเป็น IDE ทั้งหมด หรือ SATA ทั้งหมด  โดยทั่วไปนิยมเอาฮาร์ดิสก์ล็อตเดียวกันมาต่อ คือ ยี่ห้อเดียวกัน, รุ่นและความจุขนาดเดียวกันมาทำ

หลักการรีดพลัง RAID 0
     โดยทั่วไปเมื่อต่อฮาร์ดดิสก์แบบ RAID 0 วินโดวส์จะมองเห็นฮาร์ดดิสก์นั้นเป็นลูกเดียว ( 1 volume) เราก็จะมาแบ่งพาร์ติชั่นภายหลัง แต่ในความจริงแล้วการต่อ RIAD 0 คุณสามารถตั้งค่าฮาร์ดดิสก์ว่าจะแบ่งเป็นกี่ volume ก็ได้ (ในแต่ละ volume วินโดวส์จะมองแยกเป็นฮาร์ดดิสก์คนละลูก) ตรงจุดนี้เองที่เป็นเคล็ดลับสำคัญในการต่อ RAID 0 เพราะการแบ่งจากหน้าต่าง Creating a RAID volume ซอฟท์แวร์ในตัวเมนบอร์ดจะแบ่งโดยยึดเอารอบจานในฮาร์ดดิสก์เป็นหลัก volume แรกจะอยู่รอบนอก ส่วน volume ถัดไปก็จะอยู่ด้านในถัดไปเรื่อยๆ
     ดังนั้นหากคุณแบ่ง volume โดยกำหนดขนาด volume แรกให้มีขนาดเล็ก ประมาณ 10–20% ของพื้นที่ทั้งหมด เช่น มีฮาร์ดดิสก์ 2 ลูกขนาดลูกละ 1 TB ก็แบ่ง volume แรกให้มีขนาด 200 GB พื้นที่จัดเก็บข้อมูลก็จะอยู่ในบริเวณรอบนอกของจาน ซึ่งพื้นที่นี้จะมีความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลเร็วกว่าพื้นที่ด้านใน เรียกได้ว่าเป็นทางด่วนข้อมูลเลยก็ได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ติดตั้งโปรแกรมที่ต้องการใน volume นี้จะทำงานเร็วกว่า เอาให้ชัดเจนก็คือ ติดตั้งวินโดวส์ หรือเกมส์ใน volume แรกจะทำให้การอ่านและเขียนข้อมูลเร็วขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง ส่วน volume ถัดไปก็เอาไว้เก็บข้อมูลทั่วไปที่ไม่ต้องการความเร็วมาก

ทดสอบการรีดพลัง RAID 0
     ก่อนมาดูผลทดสอบ ขอแจ้งอุปกรณ์ในการทดสอบคร่าวๆ ก่อน คือ

- ฮาร์ดดิสก์ SATA II SAMSUNG (บัฟเฟอร์ 32 MB) ขนาด 1 TB  7200 rpm จำนวน 2 ลูก
- ต่อ RIAD 0 กับเมนบอร์ด ASUS M4A88TD-V EVO/USB3
- volume แรกจะตั้งเอาไว้ 200 GB และ volume ที่เหลือ 1.8 TB
- โปรแกรมทดสอบความเร็วคือ HD Tune ดาวน์โหลดตามลิงก์ด้านล่างนี้ (ใช้ HD Tune เวอร์ชั่นธรรมดา)
   http://www.hdtune.com/download.html

วิธีใช้งานโปรแกรม HD Tune เพื่อทดสอบความเร็วฮาร์ดดิสก์

1. เปิดโปรแกรมขึ้นมาคลิกเลือกฮาร์ดดิสก์ที่จะทดสอบความเร็ว (ควรปิดโปรแกรมอื่นๆ ในเครื่องให้หมด โดยเฉพาะโปรแกรมโหลดบิต) ตามตัวอย่างนี้ผมเลือก volume แรกของ RIAD 0 ที่แบ่งพื้นที่เป็น 200 GB

2. คลิกปุ่ม Start โปรแกรมจะใช้เวลาครู่หนึ่งในการทดสอบความเร็ว

3. ผลการทดสอบจะแสดงขึ้นมาดังรูปด้านล่างนี้ รายละเอียดที่ได้ดูตรงส่วน Transfer Rate คือ
[*] Minimum อัตราการโอนถ่ายข้อมูลต่ำสุด (หน่วย MB ต่อวินาที)
[*] Maximum อัตราการโอนถ่ายข้อมูลสูงสุด (หน่วย MB ต่อวินาที)
[*] Average: ค่าเฉลี่ยการโอนถ่ายข้อมูล (ดูประสิทธิภาพโดยรวมตรงนี้ หน่วย MB ต่อวินาทีเช่นกัน)
[*] Access Time: การเข้าถึงข้อมูล ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งดี ถ้าตัวเลขมากจะเข้าถึงข้อมูลช้า (หน่วย millisecond)


4. ทดสอบ volume ถัดมาที่แบ่งพื้นที่เป็น 1.8 TB ก็จะได้ผลดังรูปด้านล่างนี้ ความเร็วที่เห็นจะช้ากว่า volume แรก และตอนปลายจะเห็นว่ากราฟตกลงไปด้วย เนื่องจากอ่านข้อมูลที่ไหลไปในวงในเรื่อยๆ นั่นเอง


แถมทดสอบฮาร์ดดิสก์ Seagate แบบ 1 TB ต่อแบบ E-SATA จากล่อง 3.5 ENCLOSURE (การต่อฮาร์ดดิสก์ภายนอก ความเร็วสูงเทียบเท่าการต่อฮาร์ดดิสก์ภายในเครื่อง ต้องอาศัยพอร์ต E-SATA ด้วย)



หมายเหตุ
     การต่อ RAID 0 ต้องตั้งค่าจากระหว่างการเปิดเครื่อง มีเฉพาะเมนบอร์ดบางตัวเท่านั้น (ในปัจจุบันมีแทบทุกตัว) ข้อควรระวังอย่างมากก็คือ ฮาร์ดดิสก์ที่นำมาต่อนั้น หากมีข้อมูลอยู่ก่อนจะถูกทำลายไปหมด เมื่อนำมาต่อเป็น RAID 0 วิธีการตั้งค่าคุณสามารถหาอ่านได้จากคู่มือเมนบอร์ด ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีวิธีการไม่เหมือนกัน หลักๆ คือ ใส่ฮาร์ดดิสก์เข้าไปในเครื่อง แล้วไปเปลี่ยนค่าฮาร์ดดิสก์ในไบออสเป็น RIAD กดตั้งค่าระหว่างบูตเครื่องเพื่อสร้าง Volume จากนั้นก็ฟอร์แมตและลงวินโดวส์ใน RAID ใหม่อีกครั้ง
     เนื่องจากผู้ทำ RAID 0 ต้องเคยเล่นไบออสหรือแกะเครื่องเป็น และลงวินโดวส์ได้ หากคุณทำไม่เป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น อย่าไปกดเล่นนะครับ ผมไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้


###จบแล้วครับ###

0 comments:

Post a Comment

    ส่วนนี้สำหรับแสดงความคิดเห็นทั่วไป สอบถามปัญหาตั้งถามได้ที่ฟอรั่ม


>>> [โปรดอ่าน] เนื่องจาก บทความการใช้งานบางโปรแกรมได้โฟสไปนานแล้ว
โปรแกรมอาจมีการอัปเดท วิธีการใช้งาน อาจใช้ไม่ได้ หรือมีวิธีที่ง่ายกว่าในเวอร์ชั่นใหม่
หากคุณพบว่าวิธีการใช้งานไม่ตรงกับบทความในบล็อกนี้ สามารถแนะนำเพิ่มเติมได้ครับ