May 25, 2008
Sunday, May 25, 2008

เขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ : วิธีสมัครเข้าเป็นนักเขียน

     ช่วงหลายปีมานี่คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเราแล้ว คนใช้คอมพิวเตอร์กันมากขึ้น หลายคนพอใช้ไปนานๆ ก็เกิดความชำนาญ บางครั้ง บางคราวก็อยากจะถ่ายทอดความรู้นั้นให้คนอื่นบ้าง การเขียนหนังสือจึงเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งหลายๆ คนก็อยากจะลองเขียนหนังสือคอมฯสักเล่ม

     หลายคนอาจจะเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย อาศัยความใจกล้า ลองเมล์ไปขอสมัครเป็นนักเขียนกับสำนักพิมพ์ที่มีอยู่หลายเจ้า ส่วนใหญ่มักจะผิดหวังกลับมา คำตอบอาจจะหายไปกับเวลา หรือเป็นเมล์ตอบกลับแบบเกรงใจ บอกว่า สนพ. เรายังไม่มีโครงการจัดทำหนังสือที่เสนอไป

     ด้วยประสบการณ์จากการอ่านเมล์ของที่คนสมัครมาเป็นนักเขียน ผมขอจัดเรียงวิธีการหลักๆ เพื่อเป็นแนวคิดสำหรับผู้ที่สนใจจะเขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ ดังนี้

     1. อย่าสมัครไปเขียนหนังสือที่ล้นตลาด หนังสือพวกการใช้งานวินโดวส์เบื้องต้น, หนังสือสอนการใช้งานออฟฟิศ, หนังสือโฟโต้ช็อป ส่วนใหญ่ สนพ. จะมีนักเขียนที่เขียนหนังสือพวกนี้อยู่แล้ว หรือถ้าอยากจะเขียนจริงๆ ต้องเป็นหนังสือที่แตกต่างจากตลาดทั่วไป อาจจะเป็นระดับ Advance หรือ Workshop ที่ไม่ซ้ำกับหนังสืออื่นในตลาด

     2. พยายามให้รายละเอียดของหนังสือที่จะเขียนมากที่สุด บางคนที่เมล์มาสมัครเป็นนักเขียนบอกเพียงชื่อโปรแกรม หรือชื่อเรื่องที่จะเขียน แบบนี้ออกจะมักง่ายเกินไปหน่อย ถ้าตัวงานที่คุณเสนอมาไม่น่าสนใจจริงๆ คงยากที่สำนักพิมพ์จะติดต่อกลับไป ทางที่ดีที่สุดคือ บอกรายละเอียดข้างต้นดังนี้

- ชื่อเรื่องที่จะเขียน
- รายละเอียดของโปรแกรม หรือเนื้อหาที่น่าสนใจ
- กลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้
- ถ้าเป็นหนังสือที่มีวางแผงอยู่ในตลาด ก็ลองบอกความแตกต่างจากหนังสือที่คุณจะเขียนไปด้วย

     3.ควรจัดส่งเค้าโครงสารบัญหนังสือที่เขียนมาด้วย เค้าโครงสารบัญไม่ใช่ตัวสารบัญจริงๆ เพียงแต่บอกให้รู้ว่าในหนังสือที่จะเขียนนั้น เริ่มต้นที่เนื้อหาเรื่องใด และดำเนินการนำเสนอไปเป็นอย่างไร อาจจะบอกเป็นบทๆ แบบคร่าวๆ หรือเขียนบรรยายไปก็ได้ว่าหนังสือจะมีเนื้อหาอะไรอยู่ข้างในบ้าง (ไม่ต้องเขียนมาก เอาเนื้อๆ)

     4. ลองเขียนตัวอย่างการนำเสนอมาสักบทหนึ่ง หรือเป็นเนื้อหาสักส่วนหนึ่ง(ประมาณ5-10 หน้าก็พอ) เพื่อให้ บก. ไปพิจารณาดูว่าฝีมือการเขียนของคุณเป็นอย่างไร แล้วเนื้อหาที่เขียนส่งอย่าไปทำรูปหรือโลโก้อะไรคาดปิดตัวหนังสือเอาไว้ บางคนกลัวว่าจะโดนก๊อปปี้ใส่ชื่อตัวเองทับเนื้อหาเต็มหน้ากระดาษ ดูแล้วขัดลูกกะตา ทำให้ไม่น่าอ่าน สำหรับเนื้อหาที่ส่งมาเป็นตัวอย่างงานเขียนนั้น เขียนลงเวิร์ดธรรมดาหรือทำเป็นไฟล์แบบ PDF มาก็ได้

     5. อย่าเพิ่งถามเรื่องเงินค่าเขียน รอจนกว่าสำนักพิมพ์จะตอบตกลงรับงานที่คุณเสนอไปก่อนค่อยถาม ในกรณีนี้คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเขียนกับสำนักพิมพ์หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเงินค่าเขียนน้อยไปก็ขอยกเลิกไม่เขียนก็ได้ไม่มีใครบังคับ แล้วค่อยไปเสนองานกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ดู (แต่โดนปกติแล้วค่างานเขียนจะได้ประมาณ 10-15% จากราคาปก)

     6. การหาสำนักพิมพ์ ลองไปเปิดหน้าหนังสือคอมพิวเตอร์ตามร้าน แล้วจดเมล์หรือโฮมเพจ (อย่าไปจดเมล์นักเขียนนะครับ จดเมล์สำหรับติดต่อ สนพ. หรือ บก. เท่านั้น)จากนั้นก็เมล์ไปสมัครดูนะครับ สำหรับผมเขียนลงแค่สำนักพิมพ์เดียวมาหลายปีแล้ว คงให้รายละเอียดตรงนี้ไม่ได้มากนัก

###จบแล้วครับ###

1 comments:

  1. ขอบคุณครับ เป็นประโยชน์มากเลยครับ

    ReplyDelete

    ส่วนนี้สำหรับแสดงความคิดเห็นทั่วไป สอบถามปัญหาตั้งถามได้ที่ฟอรั่ม


>>> [โปรดอ่าน] เนื่องจาก บทความการใช้งานบางโปรแกรมได้โฟสไปนานแล้ว
โปรแกรมอาจมีการอัปเดท วิธีการใช้งาน อาจใช้ไม่ได้ หรือมีวิธีที่ง่ายกว่าในเวอร์ชั่นใหม่
หากคุณพบว่าวิธีการใช้งานไม่ตรงกับบทความในบล็อกนี้ สามารถแนะนำเพิ่มเติมได้ครับ